25 Apr 2023 | LINE Thailand PR Team
ถอดรหัส “สวัสดีวันจันทร์” กับ 3 คุณค่าที่เชื่อมโลกทั้งใบของคนในครอบครัว
ใครเคยได้รับข้อความ “สวัสดีวันจันทร์” จากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่บ้าง? เก้าในสิบคนต้องยกมือเพราะต่างมีประสบการณ์ที่กลายเป็นวิถีชีวิตปกติตั้งแต่เราและสมาชิกทุกวัยในครอบครัวใช้แอป LINE สื่อสารในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ในฐานะคนเป็นลูกอาจจะสงสัยว่าอะไรทำให้การส่งรูปดอกไม้สวัสดีประจำวัน กลายเป็นวัฒนธรรมของคนในวัยเจนเอ็กซ์ไปจนถึงเบบี้บูมเมอร์ จนบางทีอาจเผลอรำคาญ อ่านข้าม ๆ ไป แต่นี่อาจเป็นหนทางที่ง่ายและดีที่สุดในการเชื่อมโลกของผู้เป็นพ่อแม่เข้ากับโลกของลูกหลานที่นับวันจะห่างออกจากกัน เลยเป็นเรื่องที่น่าสนใจหากจะมีแง่มุมไหนที่เราในฐานะสมาชิกครอบครัวจะลองมองอย่างเข้าอกเข้าใจถึงวัฒนธรรมที่น่าสนใจนี้มากยิ่งขึ้น
ถอดรหัส “สวัสดีวันจันทร์” กับ 3 คุณค่าที่ซ่อนอยู่
1. ส่งภาพง่าย ส่งได้ซ้ำ ๆ พ่อแม่ปลื้ม
เนื่องจากวัยพ่อแม่ในรุ่นเจนเอ็กซ์ถึงเบบี้บูมเมอร์ อาจเริ่มมีข้อจำกัดด้านสุขภาพแล้วบ้าง โดยเฉพาะเรื่องสายตาและความรวดเร็วในการพิมพ์ข้อความ บางคนอาจไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี การส่งรูปภาพสวย ๆ พร้อมข้อความดี ๆ จึงเป็นวิธีที่ทำง่ายและเข้าใจง่ายที่สุด ทั้งยังบันทึกไว้ใช้ซ้ำได้บ่อยโดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการสื่อสารที่ซับซ้อน
2. โอกาสที่พ่อกับแม่จะบอกคิดถึงได้บ่อย ๆ
เมื่อวิถีชีวิตที่คนเราเติบโต แยกย้ายกันไปใช้ชีวิต จนห่างไกลจากพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักไปโดยปริยาย บางครั้งการโทรไปพูดคุยหรือวิดีโอคอล เพื่อสื่อสารอาจทำได้ไม่บ่อยและไม่เหมือนเวลาอยู่ร่วมกัน ภาพที่มีสีสันพร้อมข้อความที่หลากหลาย ตั้งแต่วันทั้งเจ็ดไปจนถึงคำอวยพร มุกตลกขำขัน นั้นช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้งานได้จริง เป็นโอกาสที่พ่อแม่จะสื่อสารกับเราได้โดยไม่ต้องหาเรื่องราวมาสร้างบทสนทนา
ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มคอมมูนิตี้เพื่อผู้สูงอายุแอปหนึ่ง* ยังเผยอีกว่า บรรดาผู้ใหญ่ต้องการส่งต่อความรัก ความปรารถนาดี และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นการบอกเป็นนัยให้รู้ว่า พ่อแม่ยังอยู่ตรงนี้และสบายดี รวมทั้งคิดถึงอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่ช่วยสร้างความรู้สึกในการมีตัวตน การมีส่วนร่วม และการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว (Belonging and Love Needs) ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs)
3. ความเฉิ่มเชยที่เป็นมวลพลังบวกของโลกทั้งใบ
ไม่ว่าจะคนรุ่นไหน ก็ชอบดูชอบมองสิ่งจรรโลงใจ ซึ่งต้องยอมรับว่าคนแต่ละวัยก็มองสิ่งสวยงานไม่เหมือนกัน รูปภาพดอกไม้ที่อยู่ในสวนหน้าบ้าน หรือภาพมุกตลกที่ส่งต่อ ๆ กันมา ที่บางคนอาจจะมองว่าไม่เห็นตลกหรือเฉิ่มเชยไปเสียด้วยซ้ำ ในทางกลับกัน นั่นกลับเป็นมวลพลังบวกในโลกของคนเป็นพ่อแม่ที่พวกเขาอยากส่งต่อความปรารถนาดีมาให้ลูกหลาน
งานวิจัยในเชิงจิตวิทยาของ Derek M. Isaacowitz และ YoonSun Choi ศึกษาเรื่องการจ้องมองเชิงบวกที่สัมพันธ์กับอายุ พบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจ้องมองภาพที่มีเนื้อหาเชิงบวกมากกว่าคนหนุ่มสาว สอดคล้องกับทฤษฎี Socioemotional Selectivity โดย Carstensen ที่บอกว่า เมื่อคนเรารับรู้ได้ถึงเวลาที่มีจำกัดของชีวิต ส่งผลให้เป้าหมาย ความชอบ และกระบวนการทางความคิดเปลี่ยนไปอย่างเป็นระบบ โดยจะยึดเป้าหมายทางอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทำให้คนมีอายุจึงมักมองหาอะไรในเชิงบวก ลดสิ่งที่เป็นเชิงลบ เพื่อปรับความรู้สึกนึกคิดให้อยู่ในเชิงบวกเสมอ
โดยเฉพาะผู้เป็นลูกในวัย “เดอะแบก” ที่กำลังรับภาระหน้าที่ต่าง ๆ ในชีวิตรอบด้าน หากลองมองในอีกแง่มุมว่า “สวัสดีวันจันทร์” ที่ได้รับอยู่ทุกวันนั้นคือ การรับ “พลังบวกประจำวัน” จากคนในครอบครัว ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการอยู่ร่วมกันและบริหารความสัมพันธ์กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่บนโลกออนไลน์แม้จะไม่ได้เจอหน้ากัน ซึ่งเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการ “เปิดอ่าน ทักทาย หรือส่งสติกเกอร์ความหมายดี ๆ กลับไป” เพียงเท่านี้ก็อาจทำให้ผู้เป็นพ่อแม่พึงพอใจได้เช่นกัน
*แอปพลิเคชัน YOUNG HAPPY เป็นแอปที่เป็นพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกันพร้อมเข้าถึงกิจกรรมความรู้ และสิทธิประโยชน์มากมายที่คัดสรรมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
เกี่ยวกับ LINE ประเทศไทย
ก่อตั้งเมื่อปี 2557 LINE ประเทศไทยบริหารจัดการธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดภายในประเทศ เช่นเดียวกับการพัฒนาธุรกิจและบริการใหม่ๆสำหรับตลาดในเมืองไทย ด้วยพันธกิจ Closing The Distance LINE ประเทศไทยมอบอีโคซิสเต็มสำหรับชีวิตดิจิทัลแบบครบวงจรด้วยบริการที่หลากหลาย เช่น LINE SHOPPING, LINE VOOM, LINE STICKERS, LINE MELODY, LINE TODAY, LINE OPENCHAT, LINE for Business and LINE Official Account, LINE MAN, LINE GAME, LINE WEBTOON, LINE BK และ Rabbit LINE PAY โดยในปี 2565 มีผู้ใช้งาน (MAU) ในประเทศไทยรวมกว่า 53 ล้านคน